ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

พิษของคลอรีน


โดย นพ.วิวัฒน์ เอกบูรณะวัฒน์
(11 พฤษภาคม 2554)
แหล่งที่มา www.thaitox.com

ชื่อ คลอรีน (Chlorine) ||||| ชื่ออื่น Chlorine gas, Dichlorine
สูตรโมเลกุล Cl2 ||||| น้ำหนักโมเลกุล 70.9 ||||| CAS Number 7782-50-5 ||||| UN Number 1017
ลักษณะทางกายภาพ แก็สสีเหลือง มีกลิ่นเหม็น หนักกว่าอากาศ
คำอธิบาย คลอรีนในสถานะบริสุทธิ์เป็นแก็สสีเหลือง (yellow) หรือเหลืองอมเขียว (yellowish-green) มีกลิ่นเหม็นฉุน และก่อความระคายเคือง มีน้ำหนักมากกว่าอากาศ คลอรีนถูกใช้ในอุตสาหกรรมทางเคมีหลายอย่าง ใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตสารฟอกขาว (bleaching agent) ในรูปสารประกอบ hypochlorite ใช้ใส่ลงในสระว่ายน้ำและน้ำประปาเพื่อฆ่าเชื้อโรค สารประกอบ hypochlorite นี้เป็นสารละลายที่ได้จากการเติมแก็สคลอรีนลงในน้ำ ในสารฟอกขาวที่ใช้ตามบ้านหลายๆ สูตรก็จะมี hypochlorite อยู่ประมาณ 3 – 5 % แต่หากเป็นสารฟอกขาวที่ใช้ในอุตสาหกรรมมักเข้มข้นกว่า อาจเข้มข้นถึง 20 % หากเติมกรดลงในสารละลาย hypochlorite จะได้แก็สคลอรีนกลับคืนมา หากเติมแอมโมเนียลงในสารละลาย hypochlorite จะได้แก็สที่มีชื่อว่าคลอรามีน (chloramine) คลอรามีนเป็นแก็สที่มีสมบัติความเป็นพิษเหมือนกันกับแก็สคลอรีน
ค่ามาตรฐานในสถานที่ทำงาน ACGIH TLV (2011): TWA = 0.5 ppm, STEL = 1 ppm ||||| NIOSH REL:  Ceiling = 0.5 ppm (1.45 mg/m3), IDLH = 10 ppm ||||| OSHA PEL: Ceiling = 1 ppm (3 mg/m3) ||||| ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับภาวะแวดล้อม (สารเคมี) พ.ศ. 2520: TWA = 1 ppm (3 mg/m3)
ค่ามาตรฐานในร่างกาย ยังไม่มีองค์กรใดกำหนดไว้ การตรวจระดับเกลือแร่ในเลือด (serum electrolyte) เพื่อดูระดับคลอไรด์ไอออน (Cl-) ซึ่งปกติมักเจาะตรวจร่วมกับเกลือแร่อื่น ได้แก่ โซเดียม (Na+) โปแตสเซียม (K+) และ ไบคาร์บอเนต (CO3-) นั้น ไม่สามารถบอกถึงระดับการสัมผัสแก็สคลอรีนในอากาศของผู้ป่วยได้ จึงไม่สามารถใช้เป็นตัวชี้วัดทางชีวภาพ (biomarker) ของการสัมผัสแก็สหรือสารประกอบคลอรีนได้ การตรวจระดับคลอไรด์ไอออนในเลือดนั้น ใช้ดูระดับความเป็น กรด-ด่าง ของเลือดจากการเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ โดยระดับคลอไรด์ไอออนจะสูงขึ้นเมื่อเลือดมีภาวะเป็นกรดเพิ่มขึ้น (ค่าปกติอยู่ที่ 96 – 106 MEq/L) ไม่สามารถนำมาใช้ประเมินระดับการสัมผัสแก็สคลอรีนในอากาศได้
แหล่งที่พบ แก็สคลอรีนระดับต่ำๆ พบได้จากการสลายตัวของสารละลาย hypochlorite ที่มีอยู่ในสารฟอกขาว น้ำยาทำความสะอาด น้ำในสระว่ายน้ำ และน้ำประปาที่เติมคลอรีน การสูดดมในระดับความเข้มข้นของผลิตภัณฑ์ที่ใช้ตามบ้านนี้ มักไม่ทำให้เกิดอันตรายแต่อย่างใด การสัมผัสในระดับสูงมักพบในกรณีรั่วไหล ของโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการใช้แก็สคลอรีนในกระบวนการผลิต การรั่วไหลระหว่างการขนส่งก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่พบได้ โรงงานที่มีการใช้สารฟอกขาวกลุ่ม hypochlorite จำนวนมาก เช่น โรงงานทำน้ำยาฟอกขาว โรงงานทำกระดาษ พนักงานก็อาจมีโอกาสสัมผัสแก็สคลอรีนได้เพิ่มขึ้นเช่นกัน กลิ่นของแก็สคลอรีนนั้นเป็นกลิ่นเฉพาะ (กลิ่นเดียวกับคลอรีนที่เติมในสระว่ายน้ำ) โดยทั่วไปคนที่สัมผัสแก็สนี้มักจะรู้ตัวได้
กลไกการก่อโรค แก็สคลอรีนทำปฏิกิริยากับน้ำจะได้กรดไฮโดรคลอริก (hydrochloric acid) และกรดไฮโปคลอรัส (hypochlorous acid) ซึ่งมีฤทธิ์กัดกร่อน เมื่อแก็สสัมผัสกับเนื้อเยื่ออ่อนที่มีน้ำหล่อเลี้ยง เช่น เยื่อบุตา เยื่อบุจมูก เยื่อบุทางเดินหายใจ จึงเกิดการระคายเคืองและกัดกร่อนเนื้อเยื่อขึ้น คลอรีนละลายน้ำได้ค่อนข้างเร็ว เมื่อสัมผัสจึงมักเกิดอาการขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนคลอรามีนนั้นละลายน้ำได้ช้ากว่า เมื่อสัมผัสแล้วจะเกิดอาการขึ้นได้ช้ากว่าเล็กน้อย
การเตรียมตัวเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน แก็สคลอรีนจัดว่าเป็นแก็สที่มีอันตรายร้ายแรง นอกจากฤทธิ์กัดกร่อนเนื้อเยื่อแล้ว ยังทำปฏิกิริยากับสารเคมีอื่นๆ ได้ง่าย แม้ตัวแก็สจะไม่ติดไฟ แต่สามารถปฏิกิริยากับสารอื่น ทำให้เกิดความร้อนและการระเบิด และช่วยสารอื่นในการติดไฟ อีกทั้งยังหนักกว่าอากาศจึงไม่ลอยขึ้นสูง โอกาสที่รั่วไหลแล้วจะเกิดปัญหารุนแรงจึงมีมาก คลอรีนมีกลิ่นเฉพาะตัว (กลิ่นเหมือนคลอรีนในสระว่ายน้ำ) ทำให้ผู้ประสบภัยมักรู้ตัวได้เร็ว เนื่องจากความเป็นพิษและอันตรายรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ ผู้เข้าไปทำการกู้ภัยจึงควรใส่ชุดป้องกันในระดับที่เหมาะสม ถ้ารั่วไหลในปริมาณสูงแนะนำให้ใส่ชุดป้องกันที่มีถังบรรจุอากาศในตัวจะปลอดภัยที่สุด
อาการทางคลินิก
  • อาการเฉียบพลัน การสัมผัสแก็สจะทำให้เกิดอาการแสบเคืองของเนื้อเยื่อ เนื่องจากแก็สมีฤทธิ์กัดกร่อนระคายเคือง เมื่อสัมผัสเยื่อบุตา จะทำให้เยื่อบุตาอักเสบ แสบตา น้ำตาไหล หากแก็สมีความเข้มข้นสูงอาจถึงกับทำให้เป็นแผลที่กระจกตาได้ การสัมผัสเยื่อบุจมูก จะทำให้แสบจมูก น้ำมูกไหล การสัมผัสเยื่อบุทางเดินหายใจ จะทำให้แสบคอ ถ้าแก็สมีความเข้มข้นสูง อาจทำให้ทางเดินหายใจส่วนบนบวม และเกิดการอุดกั้น ทำให้หายใจไม่ออกได้ หากเกิดปัญหาทางเดินหายใจส่วนบนอุดกั้น อาการเริ่มแรกจะมีเสียงแหบ ไอเสียงทุ้ม (croupy cough) และหายใจมีเสียงทุ้ม (stridor) ทางเดินหายใจส่วนล่างอาจเกิดการตีบตัว ทำให้หายใจเป็นเสียงวี๊ด (wheezing) โดยเฉพาะในผู้ที่เป็นโรคทางเดินหายใจอยู่ก่อนแล้ว เช่น หอบหืด ถุงลมโป่งพอง มีโอกาสหายใจเกิดเสียงวี๊ดได้มาก หากแก็สมีความเข้มข้นสูงมากๆ จะทำให้เกิดปอดบวมน้ำ (pulmonary edema) ปอดอักเสบ (chemical pneumonitis) หายใจล้มเหลว และถึงตายได้ การสัมผัสที่ผิวหนังถ้าแก็สมีความเข้มข้นสูงมากจะแสบระคายผิวหนังได้  
  • อาการระยะยาว หากการสัมผัสในระยะเฉียบพลันนั้นรุนแรง สัมผัสในปริมาณสูงมาก จนเนื้อเยื่อปอดถูกทำลายถาวรแล้ว ก็อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการหอบเหนื่อยจากปอดเป็นพังผืดในระยะยาวได้ การสัมผัสในปริมาณสูงในครั้งเดียวอาจทำให้เกิดเป็นโรคหอบหืดขึ้น การสัมผัสที่ตาอาจกัดกร่อนกระจกตาจนมีปัญหาการมองเห็นในระยะยาว ส่วนพิษในการก่อมะเร็งและการก่อผลต่อบุตรในคนตั้งครรภ์นั้น ยังไม่มีข้อมูลชัดเจน
การตรวจทางห้องปฏิบัติการ การตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อช่วยในการวินิจฉัยอาจไม่จำเป็นนัก การวินิจฉัยสามารถทำได้จากการซักประวัติการสัมผัสแก็ส กลิ่นของแก็สคลอรีนซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัวที่ติดมากับผู้ป่วย และอาการระคายเคืองต่อเยื่อบุที่เกิดขึ้น การตรวจระดับคลอไรด์ไอออน (Cl-) ในเลือดไม่ได้ช่วยในการประเมินระดับการสัมผัสแก็สคลอรีน การตรวจเพื่อช่วยในการรักษาและประเมินอาการ ได้แก่ การตรวจระดับออกซิเจนในเลือด (pulse oximetry) การตรวจระดับแก็สในหลอดเลือดแดง (arterial blood gas) เพื่อดูภาวะความเป็น กรด-ด่าง ของเลือด และการตรวจภาพรังสีทรวงอก (chest X-ray) เพื่อดูภาวะปอดบวมน้ำ
การดูแลรักษา
  • ปฐมพยาบาล นำผู้ป่วยออกจากจุดเกิดเหตุให้เร็วที่สุด ให้อยู่ในที่อากาศถ่ายเทดี ทำการล้างตัวด้วยน้ำเปล่าเพื่อลดการปนเปื้อน สังเกตดูปัญหาการหายใจ หากเริ่มมีปัญหาการหายใจล้มเหลว จากทางเดินหายใจส่วนบนอุดกั้น ทีมกู้ชีพอาจพิจารณาใส่ท่อช่วยหายใจเพื่อรักษาชีวิต หากรู้สติดีเพียงแต่หายใจเร็วควรให้ออกซิเจนเสริม หากมีการสัมผัสที่ดวงตา มีอาการแสบตามาก ควรรีบล้างตาด้วยน้ำเปล่าให้มากที่สุดก่อนส่งพบแพทย์
  • การรักษา ตรวจดูการหายใจ ว่ามีปัญหาทางเดินหายใจอุดกั้นหรือไม่ ถ้ามีควรพิจารณาใส่ท่อช่วยหายใจเพื่อรักษาชีวิตผู้ป่วย ทางเดินหายใจส่วนบนนั้นเมื่อบวมมากแล้วจะใส่ท่อช่วยหายใจได้ยาก ตรวจดู ระบบไหลเวียน ความรู้สติ และสัญญาณชีพของผู้ป่วย เช่นเดียวกับผู้ป่วยฉุกเฉินในกรณีอื่น ให้ออกซิเจนเสริม ถ้าหายใจมีเสียงวี๊ดพิจารณาพ่นยาขยายหลอดลม เช่น salbutamol ตามอาการ ตรวจฟังปอด และถ่ายภาพรังสีทรวงอกดูว่ามีภาวะปอดบวมน้ำหรือไม่ ถ้ามีให้ทำการรักษา และควรรับไว้รักษาตัวในโรงพยาบาล โดยทั่วไปแก็สคลอรีนออกฤทธิ์เร็ว ภาวะปอดบวมน้ำมักเกิดขึ้นทันทีหรือภายใน 2 – 3 หลังการสัมผัส ส่วนแก็สคลอรามีนอาจใช้เวลามากกว่านั้น อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ภาวะปอดบวมน้ำอาจเกิดขึ้นช้ากว่าปกติคือ 12 – 24 ชั่วโมง หลังการสัมผัสก็ได้ ดังนั้น ในผู้ป่วยที่มีประเมินดูแล้วมีอาการค่อนข้างรุนแรงจึงควรรับไว้สังเกตอาการที่โรงพยาบาลทุกราย หากเกิดภาวะปอดบวมน้ำ หรือปอดอักเสบรุนแรง หายใจล้มเหลว ควรส่งปรึกษาให้อยู่ในความดูแลของอายุรแพทย์ หากสัมผัสแก็สที่ดวงตาในความเข้มข้นสูง จนเกิดแผลที่กระจกตา ควรส่งปรึกษาให้อยู่ในความดูแลของจักษุแพทย์
การป้องกันและเฝ้าระวัง การป้องกันที่ดีที่สุดคือลดการสัมผัสตามหลักอาชีวอนามัย ใช้ระบบปิด ควบคุมที่แหล่งกำเนิด ให้ความรู้แก่พนักงานที่ต้องทำงานกับแก็สชนิดนี้ โรงงานควรตรวจสอบท่อและถังบรรจุสารเคมีให้อยู่ในสภาพดีอย่างสม่ำเสมอ การเฝ้าระวังควรตรวจสุขภาพโดยเน้นดูแลระบบทางเดินหายใจ
เอกสารอ้างอิง
  1. Olson KR, Anderson IB, Benowitz NL, Blanc PD, Clark RF, Kearney TE, et al. Poisoning & drug overdose. the California Poison Control System. 5th ed. New York: McGraw-Hill 2004.
  2. Farrow C, Wheeler H, Bates N, Murray V. Chemical Incident Management Handbook. London: The Stationery Office 2000.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ (biological marker

ในการดำเนินงานด้านอาชีวเวชศาสตร์นั้น การตรวจยืนยันการสัมผัสสารเคมีด้วยตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ (biological marker หรือ biomarker) เป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง บทความนี้เป็นบทความที่แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีราชา เขียนไว้นานพอสมควรแล้ว เห็นว่าเป็นประโยชน์ จึงจะขอนำมาลงเผยแพร่ไว้ค่ะ ตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ  (Biomarker) นพ.วิวัฒน์  เอกบูรณะวัฒน์ แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ รพ.สมิติเวช ศรีราชา บทนำ ในการทำงานทางด้านอาชีวอนามัยนั้น การดูแลสุขภาพผู้ที่สัมผัสสารเคมีต่างๆ ในที่ทำงานถือเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่ง ซึ่งการดูแลสุขภาพผู้ที่ทำงานสัมผัสสารเคมีนั้น วิธีหนึ่งคือการเฝ้าระวังทางสุขภาพ ซึ่งหมายถึงการประเมินเป็นระยะ เพื่อจะได้ทราบว่าพนักงานมีความเสี่ยงต่อการสัมผัสสารเคมีจนเป็นอันตรายแล้วหรือยัง เราจะประเมินการสัมผัสสารเคมีของพนักงานได้อย่างไร ? ตอบ : ทำได้โดยใช้ข้อมูลจากหลายทาง คือ สอบถามจากพนักงานโดยตรง (ถามอาการเช่น เคืองตา , เวียนหัว, แสบจมูก ฯลฯ) ตรวจร่างกายพนักงาน (ดูอาการเช่น ซีด , ตัวเหลือง, จิตประสาทสับสน ฯลฯ) ตรวจวัดปริมาณสารเคมีในสิ่งแวดล้อม  (environmeatal mo

พิษของกรดกัดแก้ว

rofluoric acid โดย นพ.วิวัฒน์ เอกบูรณะวัฒน์ (4 กรกฎาคม พ.ศ. 2554) ชื่อ  กรดกัดแก้ว (Hydrofluoric acid) |||||  ชื่ออื่น  Hydrogen fluoride solution สูตรโมเลกุล  HF   |||||  น้ำหนักโมเลกุล  20.01   |||||  CAS Number  7664-39-3   |||||  UN Number  1052 ลักษณะทางกายภาพ  ของเหลว ใส ไม่มีสี มีกลิ่นฉุน ก่อความระคายเคือง คำอธิบาย  กรดกัดแก้ว หรือ กรดไฮโดรฟลูออริก (hydrofluoric acid) คือสารละลายของไฮโดรเจนฟลูออไรด์ (hydrogen fluoride) ในน้ำ มีลักษณะเป็นของเหลว ใส มีกลิ่นฉุนแสบ กรดชนิดนี้นิยมใช้ในการกัดแก้วหรือกระจกให้เป็นลาย พิษของกรดชนิดนี้ มีความรุนแรงและอันตรายอย่างมาก เนื่องจากเมื่อหกรดใส่ผิวหนังแล้ว ไม่เพียงแต่ทำลายเนื้อเยื่อส่วนที่สัมผัสเท่านั้น แต่ยังซึมลึกลงไปกัดกร่อนถึงกระดูกได้ด้วย พิษของกรดกัดแก้ว สามารถรักษาได้ด้วยยาต้านพิษคือแคลเซียมกลูโคเนต (calcium gluconate) ค่ามาตรฐานในสถานที่ทำงาน  ACGIH TLV (2004): TWA = 0.5 ppm, Ceiling = 2 ppm ||||| NIOSH REL: TWA = 3 ppm, Ceiling = 6 ppm, IDLH = 30 ppm ||||| OSHA PEL: TWA = 3 ppm ค่ามาตรฐานในร่างกาย  ยังไม่มีการกำหนดค

ระเบียบปฏิบัติทีมพยาบาลบริษัทพณาอาชีวอนามัย

บททั่วไป 1.     บริษัทสงวนสิทธิ์ที่จะปรับปรุงแก้ไข เพิ่มเติมกฎระเบียบ และข้อบังคับเพื่อให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งนี้การแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว ต้องให้สอดคล้องกับ พรบ. กฎหมายแรงงานทุกประการ 2.     สถานประกอบการหมายถึง “ผู้ว่าจ้าง” ที่ทำสัญญาจ้างแพทย์/พยาบาล ห้างหุ้นส่วนสามัญพณาอาชีวอนามัย โดยในสถานะ “ผู้รับจ้าง” 3.     บริษัทหมายถึง ห้างหุ้นส่วนสามัญพณาอาชีวอนามัย 4.     พนักงานฝ่ายการพยาบาลหมายถึง พนักงานท่เข้าประจำการห้องพยาบาลของสถานประกอบการ ประกอบด้วยพนักงาน Full time รายวัน และพนักงาน past time รายวัน 4.1     พนักงาน full time หมายถึงบุคคลที่เข้าไปปฏิบัติงานประจำห้องพยาบาลของสถานประกอบการโดยได้รับค่าตอบแทนจากบริษํทฯ ตามวันที่ปฏิบัติงาน 4.2     พนักงาน past time รายวัน หมายถึง บุคคลที่ประจำอยู่ในโรงพยาบาลของภาครัฐ-เอกชน โดยบริษัทฯ ตกลงให้เข้าไปปฏิบัติงานประจำห้องพยาบาลของสถานประกอบการ ซึ่งจำนวนวันทำการไม่แน่นอน โดยได้รับค่าตอบแทนจากบริษํทฯ ตามวันที่ปฏิบัติงาน การว่าจ้างพนักงานฝ่ายการพยาบาล คุณสมบัติของพนักงาน 1.     จบการศึกษาระ