ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ (biological marker


ในการดำเนินงานด้านอาชีวเวชศาสตร์นั้น การตรวจยืนยันการสัมผัสสารเคมีด้วยตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ (biological marker หรือ biomarker) เป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง บทความนี้เป็นบทความที่แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีราชา เขียนไว้นานพอสมควรแล้ว เห็นว่าเป็นประโยชน์ จึงจะขอนำมาลงเผยแพร่ไว้ค่ะ

ตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ (Biomarker)
นพ.วิวัฒน์  เอกบูรณะวัฒน์
แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ รพ.สมิติเวช ศรีราชา

บทนำ
  • ในการทำงานทางด้านอาชีวอนามัยนั้น การดูแลสุขภาพผู้ที่สัมผัสสารเคมีต่างๆ ในที่ทำงานถือเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่ง
  • ซึ่งการดูแลสุขภาพผู้ที่ทำงานสัมผัสสารเคมีนั้น วิธีหนึ่งคือการเฝ้าระวังทางสุขภาพ ซึ่งหมายถึงการประเมินเป็นระยะ เพื่อจะได้ทราบว่าพนักงานมีความเสี่ยงต่อการสัมผัสสารเคมีจนเป็นอันตรายแล้วหรือยัง
เราจะประเมินการสัมผัสสารเคมีของพนักงานได้อย่างไร?
ตอบ : ทำได้โดยใช้ข้อมูลจากหลายทาง คือ
  • สอบถามจากพนักงานโดยตรง (ถามอาการเช่น เคืองตา, เวียนหัว, แสบจมูก ฯลฯ)
  • ตรวจร่างกายพนักงาน (ดูอาการเช่น ซีด, ตัวเหลือง, จิตประสาทสับสน ฯลฯ)
  • ตรวจวัดปริมาณสารเคมีในสิ่งแวดล้อม (environmeatal monitoring)
  • ตรวจตัวบ่งชี้ทางชีวภาพในร่างกายพนักงาน (biologic monitoring)
Biomarkers คืออะไร?
จำง่ายๆ
  • Environmental monitoring : วัดที่สิ่งแวดล้อม
  • Biologic monitoring : วัดที่สิ่งมีชีวิต (คน, สัตว์, พืช)
(ในบทความนี้จะขอกล่าวเน้นแต่เฉพาะในคนเท่านั้น และมุ่งเป้าไปที่กลุ่มพนักงานโดยเฉพาะ)
 Biological marker หรือเรียกย่อๆ ว่า biomarker ก็คือสารที่เราตรวจวัดจากร่างกายของพนักงาน เพื่อดูว่าพนักงานได้รับผลกระทบจากสารเคมีที่สัมผัสอยู่ในที่ทำงานหรือยัง เช่นโรงงานทำแผงวงจรอิเลคทรอนิกส์ที่ใช้ตะกั่วในการบัดกรี ถ้าต้องการตรวจดูว่าพนักงานมีการสัมผัสตะกั่วมากน้อยเพียงใด ก็ต้องตรวจสารตะกั่วในเลือด อย่างนี้กล่าวได้ว่า “สารตะกั่วในเลือด” เป็น biomarker ของตะกั่ว
ชนิดของ Biomarkers
Biomarker of exposure
  • หรืออาจเรียก Direct biomarker คือตัวสารนั้นเองหรือ metabolite ของสารนั้นที่วัดได้ในตัวอย่างทางชีวภาพ (เลือด, ปัสสาวะ, อากาศที่หายใจ, ฯลฯ) ของพนักงาน
  • เช่น การตรวจตะกั่วในเลือด จัดเป็น direct biomarker ของสารตะกั่ว
  • หรือ Styrene เมื่อเข้าไปในร่างกายจะเปลี่ยนแปลง ผ่านกระบวนการทางเคมีในร่างกาย จนกลายเป็น mandelic acid (เรียกสารที่มีลักษณะเช่นนี้ว่า metabolite) เราก็จัดว่า การตรวจ mandelic acid ในปัสสาวะ เป็นการตรวจ direct biomarker ของ styrene
Biomarker of effect
  • หรืออาจเรียก Indirect biomarker คือการตรวจผลเปลี่ยนแปลงทางเคมี, ชีวภาพ, สรีรวิทยา หรือในระดับโมเลกุล ที่จะเกิดขึ้นแก่ร่างกายเมื่อได้รับพิษจากสารเคมีนั้นๆ
  • เช่น เราทราบว่า การสัมผัส n – hexane จะทำให้เกิดอัมภาพที่เส้นประสาทได้ การตรวจการนำกระแสไฟฟ้าของเส้นประสาท(Nerve Conduction Velocity) เพื่อดูว่าเส้นประสาทเป็นอัมภาพไปหรือยัง ก็จัดได้ว่าเป็น Indirect biomarker ของ n – hexane 
Biomarker of susceptibility
  • คือการวัดระดับความสามารถในการรับพิษของสารเคมีของคนแต่ละคน ทำให้คาดคะเนได้ว่าบุคคลที่ตรวจเมื่อได้รับสารพิษชนิดที่ระบุแล้วจะมีโอกาสเกิดพิษได้มากหรือน้อย (ส่วนใหญ่มักเป็นการตรวจทางพันธุกรรม)
สิ่งควรรู้
สารเคมีตัวหนึ่ง อาจมี biomarker หลายตัวได้
  • เช่น toluene มี biomarkers หลายตัวคือ o – cresol ในปัสสาวะhippuric acid ในปัสสาวะ หรือ toluene ในเลือด
สารเคมีหลายตัวก็อาจมี biomarker เป็นสารตัวเดียวกันได้
  • เช่น ยาฆ่าแมลงทั้ง OrganophosphateParathion และ Carbamate ล้วนแต่ใช้ % depression of RBC Cholinesterase เป็น biomarker ได้
สารเคมีบางชนิด อาจไม่มี biomarker ก็ได้ (หรือมีแต่ยังไม่มีการศึกษาค้นพบ)
  • เนื่องจากสารเคมีในโรงงานมีอยู่มากมายหลายหมื่นชนิด สารเคมีใหม่บางตัวก็ยังไม่มีการศึกษาผลต่อสุขภาพของมนุษย์ที่เพียงพอ จึงยังไม่มี biomarker
ในโรงงานเดียวกัน พนักงานไม่จำเป็นต้องตรวจ biomarkers เหมือนกันทุกคนก็ได้
  • เช่น โรงงานทำลูกสูบรถยนต์แห่งหนึ่ง มีการหลอมโลหะที่มีสารตะกั่วปนอยู่ในขั้นแรก แล้วเอามาเทลงเบ้า จากนั้นดำเนินการตาม line การผลิตมาเรื่อยๆ และในขั้นตอนสุดท้าย จะมีการใช้ตัวทำละลายคือ hexane ล้างคราบน้ำมันออกจากผิวลูกสูบ เพื่อดูรอยตำหนิของชิ้นงาน
  • มีพนักงาน 3 คน คนหนึ่งอยู่หน้าเตาหลอม อีกคนอยู่ที่แผนกตรวจชิ้นงาน ส่วนอีกคนอยู่ที่แผนกการเงินในออฟฟิศของบริษัท
  • คนที่อยู่หน้าเตาหลอมสัมผัสตะกั่ว ก็ควรจะตรวจตะกั่วในเลือด, คนที่สองที่สัมผัส hexane ก็น่าจะตรวจ 2,5 hexadione ส่วนคนสุดท้าย ทำงานอยู่ในออฟฟิศที่อยู่อีกตึกหนึ่ง และไม่เคยเดินเข้ามาใน line การผลิตเลย อาจจะไม่ต้องตรวจ biomarkers ของสารเคมีใดๆ ก็ได้ เนื่องจากไม่ได้สัมผัส
แล้วสัตว์กับพืชล่ะ ?
คำถาม : หลักการของ biomarker นำไปใช้กับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ได้หรือไม่?
ตอบ : ในกระบวนการพิสูจน์ความเป็นพิษของสารเคมีก่อนนำขายออกสู่ท้องตลาดนั้น การทดลองความเป็นพิษในเบื้องต้นก็เริ่มจากการทำในสัตว์ทดลองอยู่แล้ว เช่น หนู ลิง กระต่าย จากนั้นข้อมูลความเป็นพิษในสัตว์จะถูกนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการคำนวณเป็นระดับความเป็นพิษในคน (extrapolation) หลักการของตัวบ่งชี้ทางชีวภาพจึงสามารถใช้ได้ในสัตว์และพืชเช่นกัน
เช่น เจ้าของฟาร์มเลี้ยงวัว กลัวว่าวัวกินน้ำที่ไหลมาจากเหมืองแร่ที่ปนเปื้อนโลหะแคดเมี่ยมแล้วจะทำให้วัวตาย ถ้าจะตรวจหา biomarker ของแคดเมี่ยมในวัวก็สามารถทำได้ แต่ในทางปฏิบัติการตรวจในสัตว์ไม่ค่อยมีการทำกันมากนัก เนื่องจากการตรวจ biomarker ต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูง การตรวจในสัตว์หรือในพิษมักจะทำในกรณีที่ต้องการพิสูจน์การปนเปื้อนเป็นมลพิษในสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก
Lab ตัวไหนเป็น biomarker?
มีคำถามอีกว่า lab ที่เราตรวจสุขภาพประจำปี อยู่ทั่วไปในปัจจุบันเป็น biomarker ด้วยหรือไม่?
  • ตอบ : เป็น  มี lab หลายๆ ตัวที่เป็น indirect biomarker
  • เช่น เราทราบว่าโรคพิษตะกั่วจะมีอาการโลหิตจาง ฉะนั้นก็กล่าวได้ว่าการตรวจความเข้มข้นเลือด (Hematocrit) เป็น indirect biomarker ของตะกั่ว
  • หรือเรารู้ว่าการสัมผัส styrene มากๆ ทำให้ตับอักเสบ การตรวจการทำงานของตับ (liver function test) ก็เป็น indirect biomarker ของ styrene เช่นกัน
ตรวจอย่างไรให้ถูกต้อง?
ตรวจ biomarker ให้ถูกต้องต้องดูต่อไปนี้
ถูกตัว
  • ถ้าตรวจผิดตัว ก็ย่อมจะแปลผลผิด เช่นพนักงานสัมผัสสาร xylene ต้องทำการตรวจ biomarker คือ methylhippuric acid ในปัสสาวะ แต่ไปตรวจผิดตัวเป็น hippuric acid ในปัสสาวะแทน จึงไม่สามารถแปลผลได้
ถูกเทคนิค
  • การเก็บตัวอย่าง biomarkers บางตัวต้องมีเทคนิคพิเศษ รายละเอียดปลีกย่อย ซึ่งควรปฏิบัติให้ถูกด้วย เช่น การตรวจตะกั่วในเลือด ต้องใช้เข็มและหลอดเก็บที่ไม่มีสารตะกั่ว, การตรวจสารหนูในปัสสาวะ ต้องงดอาหารทะเล 2 - 3 วันก่อนตรวจ, การตรวจhippuric acid ในปัสสาวะ ซึ่งเป็น biomarker ของ toluene ต้องงดอาหารรสเปรี้ยวและน้ำอัดลม 1 วันก่อนตรวจ เป็นต้น
ถูกเวลา
  • การเก็บตัวอย่างส่งตรวจให้ถูกเวลา เป็นสิ่งที่สำคัญมาก และมักจะถูกละเลยเป็นประจำ อย่าลืมว่าสารเคมีต่างๆ ที่เข้าสู่ร่างกาย มีการเปลี่ยนแปลง ทำปฏิกิริยา และขับออกอยู่ตลอดเวลา บางตัวอยู่ในร่างกายแค่ช่วงเวลาสั้นๆ นับเป็นนาที การเก็บตัวอย่างจึงต้องทำหลังสัมผัสสารทันที แต่บางตัวอยู่ในร่างกายนานเป็นสัปดาห์ จะเก็บตัวอย่างตรวจเวลาใดก็ได้ การเก็บตัวอย่างส่งตรวจจึงต้องทำให้ถูกเวลาด้วย
  • ตัวอย่างเช่นสารเคมีหลายตัว แนะนำให้เก็บตัวอย่างส่งตรวจหลังเลิกกะ (end of shift, EOS) เช่น methyl ethyl ketone ในปัสสาวะ
  • ถ้าพนักงานโรงงานทำกาว ที่สัมผัสสาร methyl ethyl ketone ทำงานตั้งแต่เวลา 8.00 - 17.00 น. ก็ควรเก็บตัวอย่างปัสสาวะตรวจในช่วงเวลา 17.00 - 17.30 น. ถ้าไปเก็บในเวลา 10.00 น. ค่าที่ได้ ก็อาจจะต่ำกว่าความเป็นจริง
ระยะเวลาในการเก็บ  
อ้างอิงวิธีการเก็บจากหนังสือ Current Occupational and Environmental Medicine 4th edition [1]
DS (During Shift)
  • เก็บเวลาใดก็ได้ระหว่างกะ แต่ต้องสัมผัสสารนั้นมาแล้วอย่างน้อย 2 ชั่วโมง
  • เช่นพนักงานที่เข้ากะบ่าย 16.00 – 24.00 น. ต้องเก็บหลัง 18.00 ไปแล้วเท่านั้น
EOS (End Of Shift)
  • เก็บหลังหยุดการสัมผัสสารให้เร็วที่สุดเท่าที่ทำได้
  • ในทางปฏิบัติอาจเก็บประมาณ 15 – 30 นาทีหลังเลิกกะ
EWW (End of Work Week)
  • เก็บที่วันสุดท้ายของสัปดาห์การทำงาน หลังเลิกกะ
  • โดยต้องทำงานมาแล้วอย่างน้อย 4 – 5 วันติดกัน
L2H (Last 2 Hours of shift)
  • เก็บในช่วง 2 ชั่วโมงสุดท้ายก่อนเลิกกะ
L4H (Last 4 Hours of shift)
  • เก็บในช่วง 4 ชั่วโมงสุดท้ายก่อนเลิกกะ
NC (Not Critical) หรือ Discretionary
  • เก็บเวลาไหนก็ได้ (แสดงว่าสารนั้นมี terminal half life ยาวมาก)
PNS (Prior to Next Shift)
  • หมายถึง เก็บก่อนเข้ากะใหม่
  • โดยต้องหยุดการสัมผัสสารนั้นมาแล้ว อย่างน้อย 16 ชั่วโมง
อุปสรรคในการเก็บให้ถูกเวลา (แก้ไขได้)
  • ในปัจจุบัน เรานิยมให้หน่วยตรวจสุขภาพ มาบริการตรวจสุขภาพที่โรงงานกันมาก เนื่องจากสะดวกรวดเร็ว ใช้เวลาในการตรวจทั้งโรงงานเพียงแค่วันเดียว ในการเก็บตัวอย่างส่งตรวจ ไม่ว่าเลือดหรือปัสสาวะ ก็มักจะทำในวันที่หน่วยตรวจสุขภาพเข้ามาตรวจด้วยเลย
  • แต่ในกรณีนี้ ถ้าหน่วยตรวจสุขภาพมาตรวจในช่วงเช้า สาร biomarker ที่แนะนำให้เก็บ หลังเลิกกะ (end of shift) จะเก็บไม่ถูกเวลา (เร็วเกิน, จะให้ถูกต้องเก็บ “หลังเลิกกะ” ไม่ใช่ช่วงเช้า)
  • การแก้ไขปัญหานี้ ในกรณีที่มีพยาบาลประจำโรงงาน (ไม่ว่า full-time หรือ part-time ก็ตาม) และพนักงานจำนวนไม่มาก น่าจะพอทำได้ไม่ยาก โดยให้พยาบาลประจำโรงงานเก็บตัวอย่างส่งตรวจ ของพนักงานคนที่ต้องตรวจ biomarker ไว้ (ในช่วงหลังเลิกงานของวันก่อนที่จะมีการตรวจสุขภาพ)
  • ในกรณีที่มีพนักงานจำนวนมาก ควรปรึกษาหน่วยตรวจสุขภาพที่มาให้บริการ   แก่โรงงานเพื่อจัดหาเจ้าหน้าที่มาเก็บตัวอย่างในเวลาที่ถูกต้อง
ตรวจ Biomarker ผิดมีข้อเสียอย่างไร?
พนักงานเจ็บตัว
  • เนื่องจากถูกเจาะเลือดไปตรวจแต่ค่าการตรวจนั้นไม่สามารถเอามาแปลผลได้
โรงงานเสียเงิน
  • เนื่องจากต้องจ่ายค่าตรวจ biomarkers ให้แก่พนักงาน แต่ไม่สามารถนำค่าที่ได้มาใช้ประโยชน์ เพราะเลือก biomarkers ผิดชนิด, ผิดเทคนิคการเก็บ, ตรวจผิดเวลา, ตรวจผิดวิธี
ทำให้เกิดการแปลผลผิดๆ
  • ผลการตรวจที่ไม่ถูกต้อง ทำให้แพทย์อาชีวเวชศาสตร์และโรงงานไม่สามารถประเมินผลต่อสุขภาพที่แท้จริงของพนักงานได้ เช่น พนักงานที่สัมผัสสาร trichloroethylene ในโรงงานซักแห้ง ถ้าทำการตรวจ biomarker คือtrichloroacetic acid ในปัสสาวะ ต้องทำการตรวจปลายสัปดาห์ (end of workweek) แต่ผู้ตรวจไปทำการตรวจในเช้าวันอังคาร จึงได้ค่าที่ต่ำกว่าความเป็นจริง ทำให้เกิดความชะล่าใจว่าพนักงานยังมีผลตรวจที่ปกติดี ยิ่งถ้าประกอบกับการตรวจวัดในสิ่งแวดล้อมที่ผิดพลาดแล้ว ยิ่งจะทำให้เกิดการละเลยต่อการป้องกันโรคจากสารชนิดนี้มากขึ้น
สถานที่ส่งตรวจ Biomarker
ในประเทศไทยท่านสามารถส่งตรวจ biomarker ได้หลายหน่วยงาน เช่น
  • ศูนย์อ้างอิงทางห้องปฏิบัติการและพิษวิทยา สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม ตึกศูนย์ห้องปฏิบัติการกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี หมายเลขโทรศัพท์ 02-9687633
  • หน่วยพิษวิทยา ภาควิชาพยาธิวิทยา และโครงการศึกษาประสิทธิภาพของยาและโลหะหนักเป็นพิษ รพ.รามาธิบดี อาคาร 1 ชั้น 3 ศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ หมายเลขโทรศัพท์ 02-2011338, 1358, 1268
  • ห้องแลปของโรงพยาบาลรัฐบาลขนาดใหญ่หลายแห่งทั่วประเทศ
  • ห้องแลปเอกชนซึ่งมีหลายแห่งให้เลือกใช้บริการ
โดยแต่ละแห่งก็มีความสามารถในการตรวจได้มากน้อยแตกต่างกัน ทั้งในด้านเทคนิคการตรวจ, จำนวนชนิดของ biomarker ที่ตรวจได้, คุณภาพ, ราคา, ระยะเวลา, ความน่าเชื่อถือ ซึ่งท่านสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้จากแต่ละแห่งโดยตรง
อยากทราบค่ามาตรฐาน 
ปกติเมื่อส่งตรวจ biomarker ทางห้องปฏิบัติการจะมีช่วงค่ามาตรฐานอย่างคร่าวๆ มาให้เปรียบเทียบอยู่ในใบรายงานผลอยู่แล้ว
แต่ถ้าต้องการทราบค่ามาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง อาจดูจาก Biological Exposure Indices (BEI) ซึ่งจัดทำโดย American Conference of Governmental Industrial Hygienist (ACGIH) [2] หนังสือเล่มนี้จะรวบรวมและปรับปรุงค่ามาตรฐาน biomarker ของสารเคมีชนิดต่างๆ เพิ่มเติมทุกปี มีความน่าเชื่อถือสูง ซื้อทาง internet ได้ที่ http://www.acgih.org/home.htm แต่ราคาขายค่อนข้างสูง (ขณะที่เขียนบทความนี้ เล่มล่าสุดที่องค์กร ACGIH ทำออกมาจำหน่ายคือ BEI 2009 มีราคา 49.95 $) [3] 
สิ่งควรทราบอีกอย่างหนึ่งคือ ค่ามาตรฐานของ biomarker ที่กำหนดว่า “ไม่มีผลเสียต่อสุขภาพ” นี้ ไม่ได้รวมถึงผลเสียในด้านการก่อมะเร็งและผลทางพันธุกรรมที่ส่งไปถึงบุตรหลานของผู้สัมผัสสารเคมีนั้นด้วย และคำว่า “ไม่มีผลเสียต่อสุขภาพ” นั้นหมายถึงสุขภาพของคนส่วนใหญ่ (ตามหลักสถิติ) กรณีที่มีพนักงานบางคนร่างกายไวต่อการรับพิษสารเคมีมาก (susceptible group) โอกาสเกิดผลเสียต่อสุขภาพของพนักงานเฉพาะบุคคลนั้นก็ยังคงมีได้
เอกสารอ้างอิง
  1. Meister RK, Zheng Y. Biological monitoring. In: Ladou J, ed. Current Occupational and Environmental Medicine 4thedition. New York: McGraw-Hill 2007.
  2. American Conference of Governmental Industrial Hygienists (ACGIH). TLVs and BEIs 2007. Cincinnati: ACGIH 2007.
  3. American Conference of Governmental Industrial Hygienists (ACGIH). ACGIH Product detail. [cited 3 May 2009]; Available from: http://www.acgih.org/store/ProductDetail.cfm?id=2039

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

พิษของกรดกัดแก้ว

rofluoric acid โดย นพ.วิวัฒน์ เอกบูรณะวัฒน์ (4 กรกฎาคม พ.ศ. 2554) ชื่อ  กรดกัดแก้ว (Hydrofluoric acid) |||||  ชื่ออื่น  Hydrogen fluoride solution สูตรโมเลกุล  HF   |||||  น้ำหนักโมเลกุล  20.01   |||||  CAS Number  7664-39-3   |||||  UN Number  1052 ลักษณะทางกายภาพ  ของเหลว ใส ไม่มีสี มีกลิ่นฉุน ก่อความระคายเคือง คำอธิบาย  กรดกัดแก้ว หรือ กรดไฮโดรฟลูออริก (hydrofluoric acid) คือสารละลายของไฮโดรเจนฟลูออไรด์ (hydrogen fluoride) ในน้ำ มีลักษณะเป็นของเหลว ใส มีกลิ่นฉุนแสบ กรดชนิดนี้นิยมใช้ในการกัดแก้วหรือกระจกให้เป็นลาย พิษของกรดชนิดนี้ มีความรุนแรงและอันตรายอย่างมาก เนื่องจากเมื่อหกรดใส่ผิวหนังแล้ว ไม่เพียงแต่ทำลายเนื้อเยื่อส่วนที่สัมผัสเท่านั้น แต่ยังซึมลึกลงไปกัดกร่อนถึงกระดูกได้ด้วย พิษของกรดกัดแก้ว สามารถรักษาได้ด้วยยาต้านพิษคือแคลเซียมกลูโคเนต (calcium gluconate) ค่ามาตรฐานในสถานที่ทำงาน  ACGIH TLV (2004): TWA = 0.5 ppm, Ceiling = 2 ppm ||||| NIOSH REL: TWA = 3 ppm, Ceiling = 6 ppm, IDLH = 30 ppm ||||| OSHA PEL: TWA = 3 ppm ค่ามาตรฐานในร่างกาย  ยังไม่มีการกำหนดค

ระเบียบปฏิบัติทีมพยาบาลบริษัทพณาอาชีวอนามัย

บททั่วไป 1.     บริษัทสงวนสิทธิ์ที่จะปรับปรุงแก้ไข เพิ่มเติมกฎระเบียบ และข้อบังคับเพื่อให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งนี้การแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว ต้องให้สอดคล้องกับ พรบ. กฎหมายแรงงานทุกประการ 2.     สถานประกอบการหมายถึง “ผู้ว่าจ้าง” ที่ทำสัญญาจ้างแพทย์/พยาบาล ห้างหุ้นส่วนสามัญพณาอาชีวอนามัย โดยในสถานะ “ผู้รับจ้าง” 3.     บริษัทหมายถึง ห้างหุ้นส่วนสามัญพณาอาชีวอนามัย 4.     พนักงานฝ่ายการพยาบาลหมายถึง พนักงานท่เข้าประจำการห้องพยาบาลของสถานประกอบการ ประกอบด้วยพนักงาน Full time รายวัน และพนักงาน past time รายวัน 4.1     พนักงาน full time หมายถึงบุคคลที่เข้าไปปฏิบัติงานประจำห้องพยาบาลของสถานประกอบการโดยได้รับค่าตอบแทนจากบริษํทฯ ตามวันที่ปฏิบัติงาน 4.2     พนักงาน past time รายวัน หมายถึง บุคคลที่ประจำอยู่ในโรงพยาบาลของภาครัฐ-เอกชน โดยบริษัทฯ ตกลงให้เข้าไปปฏิบัติงานประจำห้องพยาบาลของสถานประกอบการ ซึ่งจำนวนวันทำการไม่แน่นอน โดยได้รับค่าตอบแทนจากบริษํทฯ ตามวันที่ปฏิบัติงาน การว่าจ้างพนักงานฝ่ายการพยาบาล คุณสมบัติของพนักงาน 1.     จบการศึกษาระ